เล่าขานตำนานดอยเต่า

ทุกๆ ปีชาวดอยเต่าจะเผชิญปัญหาภัยแล้งซ้ำซากมาตลอด ทั้งที่ควรมีโอกาสมากกว่านี้ เพราะมีน้ำในเขื่อนภูมิพล มีกองทุนพัฒนาต่างๆรายรอบเขื่อนมากมาย มีพื้นที่ทำการเกษตรที่มีแหล่งน้ำในระบบชลประทานสนับสนุนได้ แต่ปรากฎว่าราษฎรใน 6 ตำบล 43 หมู่บ้าน ที่มีกลุ่มชาติพันธ์ปะปนกัน ทั้งคนเมือง กะเหรี่ยง ลัวะ และยอง ชาวบ้านกลุ่มแรกๆ เกือบ 2,000 ครัวเรือน ที่ต้องอพยพหนีน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนภูมิพลกั้นลำน้ำแม่ปิง จนเกิดทะเลสาบดอยเต่า ซึ่งปัจจุบัน ในทะเลสาบดอยเต่า มีน้ำบ้างไม่มีน้ำบ้าง ถ้ามีก็ใช้เป็นแหล่งประมงพื้นบ้าน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว แต่ชาวบ้านยังไม่พ้นวังวน แห่งความทุกข์ยากลำบากเช่นเดิม… ที่สำคัญที่เป็นหนามคาใจคนดอยเต่ามาตลอดคือ เอกสารสิทธิ์ที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย หลายร้อยครอบครัวยังไม่มีสิทธิ์ ที่จะครอบครองเป็นของตนเอง ทั้งที่ขอให้ชาวดอยเต่าเสียสละพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ อพยพขึ้นมาอาศัยในที่ปัจจุบัน อีกนานเท่าไร? ชาวดอยเต่าจึงจะได้รับสิทธิ์อันชอบธรรมนั้น..เหมือนพื้นที่อื่นๆทั่วไป

“ จะเล่าขานตำนานดอยเต่า มีเรื่องเล่าจากผู้เฒ่าผ่านมา สองพันห้าร้อยเจ็ดทุกข์ยากหนักหนา หนีตายออกมาจากบ้านเกิดริมน้ำปิง”

สมัยก่อนสภาพเศรษฐกิจของเมืองดอยเต่า  ไม่แตกต่างไปจากเมืองล้านนาทั่วไป  มีการดำรงชีวิตด้วยการทำนา  ปลูกข้าว  หาปลา  เลี้ยงครั่ง ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงอันอุดมสมบูรณ์   การทำนามีการลงแขกช่วยเหลือกัน( ประเพณีฮอมแฮง )  ในบางครั้งก็มีการจ้างงานบ้าง     เพื่อนบ้านไม่มีข้าวกินก็หยิบยืมกันได้ เมื่อปลูกข้าวได้ก็นำมาใช้คืนไม่มีดอกเบี้ย เป็นสังคมที่โอบอ้อมอารีย์ มีแต่ความสุข ช่วยเหลือกันไม่แข่งขันกัน    ในปี พ.ศ. 2500   ค่าจ้างแรงงานทั่วไปของคนดอยเต่า  ตกวันละ  5 บาท  ก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 สตางค์   ข้าวสารราคาลิตรละ 2 บาท  เงินที่ใช้ในสมัยนั้นจะใช้เงินใบละ  1 บาท ,  5 บาท  และ  10  บาท สินค้าที่ขึ้นชื่อของเมืองดอยเต่าในสมัยนั้น คือ ข้าว   ครั่ง   หอม   กระเทียม  ปลาแห้ง   ถั่วลิสง และอ้อย  ใครที่เลี้ยงครั่งในสมัยนั้นจะเป็นผู้มีเงินร่ำรวย

     …ในการอพยพจากพื้นที่เดิมชาวดอยเต่าจะได้ค่าชดเชยที่ดินไร่ละ 400 บาทและต้องไปรับเงินที่อำเภอจอมทองซึ่งสมัยนั้นการเดินทางจากดอยเต่าไปจอมทองลำบากมากต้องไปนอนค้างคืน การจ่ายเงินก็ไม่เป็นระบบชาวดอยเต่าจึงใช้วิธีให้ผู้อื่นไปรับแทนโดยให้ค่าตอบแทนไร่ละ 25-30 บาท (สัมภาษณ์  พ่อจู  ไชยวงศ์ , อายุ  96 ปี  บ้านเลขที่   14   หมู่ที่  4   ต. โปงทุ่ง  อ. ดอยเต่า  จ. เชียงใหม่ ) จะเห็นว่าระบบนายหน้าของชาวดอยเต่ามีมานานแล้ว

      ก่อนที่จะนำเสนอเส้นทางการอพยพของชาวดอยเต่าในอดีตจากหมู่บ้านเก่าตามลุ่มแม่น้ำปิงไปหมู่บ้านที่สร้างขึ้นใหม่โดยคนรุ่นเก่า ขอนำเสนอประวัติของแต่ละหมู่บ้านและเหตุการณ์ก่อนน้ำจะท่วมบ้านเรือนท่วมไร่ท่วมนาให้ทุกท่านได้ทราบตามคำบอกเล่าของผู้สูงวัยที่อยู่ในเหตุการณ์ โดยจะเริ่มจากบ้านที่อยู่ใต้สุดไล่ขึ้นมาถึงเหนือสุดพอสังเขป ดังนี้

ติดตาม ตอน… ต่อไป


1 สัมภาษณ์นายเมืองแก้ว

แผนที่ดอยเต่า

ภาพดอยเต่าในอดีต